คลังคำสำคัญ ‘พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535’

กฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการออกใบอนุญาตในการเพาะพันธุ์สัตว์ ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง การครอบครองและการนำเคลื่อนที่เพื่อการค้าซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครอง และซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง และการค้าสัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2551

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการออกใบอนุญาตในการเพาะพันธุ์สัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง การครอบครองและการนำเคลื่อนที่เพื่อการค้าซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครอง และซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง และการค้าสัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง และเนื่องจากมาตรา ๘ มาตรา ๑๘ มาตรา ๑๙ มาตรา ๒๐ และมาตรา ๒๕ แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ บัญญัติให้การขอและการออกใบอนุญาตในการเพาะพันธุ์สัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง การครอบครองและการนำเคลื่อนที่เพื่อการค้าซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครอง และซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง และการค้าสัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

กฎกระทรวง กำหนดชนิดของสัตว์ป่าคุ้มครองให้เป็นสัตว์ป่าชนิดที่เพาะพันธุ์ได้ พ.ศ. 2546

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ และกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๐ (พ.ศ. ๒๕๔๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ ต่างได้กำหนดสัตว์ป่าคุ้มครองบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่เพาะพันธุ์ได้ไว้เป็นเอกเทศจากกัน ทำให้เกิดความไม่สะดวกในการบังคับใช้กฎหมาย ประกอบกับมีสัตว์ป่าคุ้มครองบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่สามารถเพาะพันธุ์ได้ที่ควรได้รับการส่งเสริมให้มีการเพาะพันธุ์เพิ่มเติม เพื่อป้องกันมิให้สูญพันธุ์ และเพื่ออนุญาตให้บุคคลมีไว้ในครอบครอง ค้า และเพาะพันธุ์ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย จึงสมควรที่จะปรับปรุงกฎกระทรวงทั้งสองฉบับดังกล่าวเสียใหม่โดยรวมเป็นกฎกระทรวงฉบับเดียวกัน พร้อมกับกำหนดสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่เพาะพันธุ์ได้เพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความสะดวกแก่ผู้ใช้กฎหมาย จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

กฎกระทรวง กำหนดแบบและวิธีการแจ้งการครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครอง และซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง การออกใบอนุญาตให้ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองชั่วคราว และการออกใบรับรองการครอบครองซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2550

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่แบบและวิธีการแจ้งการครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครอง และซากของสัตว์ป่าคุ้มครองตามมาตรา ๖๑ แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะการทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ป่าคุ้มครองมีความล่าช้าและไม่ปลอดภัยแก่สัตว์ป่าคุ้มครอง และโดยที่ระยะเวลาที่กำหนดให้ผู้มีสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครองซากของสัตว์ป่าสงวนหรือซากของสัตว์ป่าคุ้มครองอยู่ในความครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายมาแจ้งรายการเกี่ยวกับชนิดและจำนวนของสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าสงวนหรือซากของสัตว์ป่าคุ้มครองที่อยู่ในความครอบครองของตนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๖๗ แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้สิ้นสุดลง ประกอบกับได้มีการปฏิรูประบบราชการโดยกำหนดให้มีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมขึ้น และให้ภารกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ โอนไปเป็นของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น เพื่อเป็นการสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว สมควรแก้ไขให้ถูกต้องเสียในคราวเดียวกัน จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

พระราชกฤษฎีกา กำหนดบริเวณที่ดินป่าภูค้อและป่าภูกระแต ในท้องที่ตำบลหนองคัน ตำบลห้วยสีเสียด ตำบลแก่งศรีภูมิ อำเภอภูหลวง ตำบลปวนพุ ตำบลหนองหิน ตำบลตาดข่า กิ่งอำเภอหนองหิน อำเภอภูกระดึง และตำบลภูกระดึง ตำบลศรีฐาน ตำบลห้วยส้ม อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย ให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พ.ศ. 2550

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากบริเวณที่ดินป่าภูค้อและป่าภูกระแตในท้องที่ตำบลหนองคัน ตำบลห้วยสีเสียด ตำบลแก่งศรีภูมิ อำเภอภูหลวง ตำบลปวนพุ ตำบลหนองหิน ตำบลตาดข่า กิ่งอำเภอหนองหิน อำเภอภูกระดึง และตำบลภูกระดึง ตำบลศรีฐาน ตำบลห้วยส้ม อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย เนื้อที่ประมาณ ๑๔๕,๒๘๕ ไร่ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาหินทรายและภูเขาหินปูนสูงชันต่อเนื่องสลับกันเป็นเทือกเขายาวหลายลูก สภาพป่าเป็นป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรังเป็นแหล่งต้นน้ำ ลำธารของลำห้วยหลายสาย เป็นแหล่งน้ำแหล่งอาหารของสัตว์ป่าที่อุดมสมบูรณ์มีสัตว์ป่าหลายชนิดอาศัยอยู่ เช่น เลียงผา เก้ง หมี ลิง ค่าง หมูป่า ไก่ป่า และนกชนิดต่างๆ ฉะนั้นเพื่อรักษาไว้ซึ่งพันธุ์สัตว์ป่าและพื้นที่ป่าให้เป็นแหล่งที่อาศัยของสัตว์ป่าโดยปลอดภัย รวมทั้งเป็นการรักษาแหล่งต้นน้ำลำธารและป่าไม้ที่มีอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ให้คงอยู่อย่างถาวรตลอดไป สมควรกำหนดบริเวณที่ดินดังกล่าวให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

พระราชกฤษฎีกา กำหนดบริเวณที่ดินป่าเขาปลายโต๊ะ ป่าเขาศก ป่าเทือกเขากะทะคว่ำ ป่าเทือกเขาหราสูง และป่าเทือกเขาสูง ในท้องที่ตำบลรมณีย์ ตำบลเหล ตำบลท่านา ตำบลกะปง อำเภอ กะปง ตำบลสองแพรก อำเภอเมืองพังงา และตำบลถ้ำทองหลาง ตำบลบางเหรียง อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา ให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พ.ศ. 2550

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากป่าเขาปลายโต๊ะ ป่าเขาศกป่าเทือกเขากะทะคว่ำ ป่าเทือกเขาหราสูง และป่าเทือกเขาสูง ในท้องที่ตำบลรมณีย์ ตำบลเหล ตำบลท่านา ตำบลกะปง อำเภอกะปง ตำบลสองแพรก อำเภอเมืองพังงา และตำบลถ้ำทองหลาง ตำบลบางเหรียง อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา เนื้อที่ประมาณ ๒๒๑.๙๔ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๑๓๘,๗๑๒.๕๐ ไร่ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน สภาพป่าเป็นป่าดิบชื้นที่สมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหลายสายที่ไหลลงสู่คลองมะรุยคลองบางแดง คลองบางพระ คลองบางเสียด คลองบางแม่ยาย และคลองบางพ่อตา มีแหล่งน้ำและแหล่งอาหารของสัตว์ป่าอย่างอุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครองหลายชนิดอาศัยอยู่อย่างชุกชุม เช่น เลียงผาเสือโคร่ง สมเสร็จ หมีควาย ค่างแว่นถิ่นใต้ ตลอดจนนก สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ฉะนั้น เพื่อรักษาไว้ซึ่งพันธุ์สัตว์ป่าและพื้นที่ป่า ให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าโดยปลอดภัย รวมทั้งเป็นการรักษาแหล่งต้นน้ำลำธารและป่าไม้ที่มีอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ให้คงอยู่อย่างถาวรตลอดไป สมควรกำหนดบริเวณที่ดินดังกล่าวให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

พระราชกฤษฎีกา กำหนดบริเวณที่ดินป่าฮาลาและป่าบาลา ในท้องที่ตำบลกาหลง ตำบลศรีสาคร อำเภอศรีสาคร ตำบลช้างเผือก อำเภอจะแนะ ตำบลสุคิริน ตำบลมาโมง ตำบลภูเขาทอง อำเภอสุคิริน ตำบลแว้ง ตำบลแม่ดง ตำบลโละจูด อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส และตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พ.ศ. 2550

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากพื้นที่บางส่วนในท้องที่ตำบลกาหลง ตำบลศรีสาคร อำเภอศรีสาคร ตำบลช้างเผือก อำเภอจะแนะ และตำบลสุคิริน ตำบลมาโมง ตำบลภูเขาทอง อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส ซึ่งมีเขตติดต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ป่าฮาลาและป่าบาลา ตามที่ได้กำหนดไว้โดยพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าฮาลาและป่าบาลา ในท้องที่ตำบลจะแนะ อำเภอจะแนะ ตำบลแว้ง ตำบลแม่ดง ตำบลโละจูด อำเภอแว้ง ตำบลมาโมง ตำบลภูเขาทอง อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส และตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๙ มีสภาพทั่วไปเป็นป่าดงดิบชื้นมีแหล่งน้ำแหล่งอาหารของสัตว์ป่าอุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครองหลายชนิดอาศัยอยู่ชุกชุมเหมาะสมที่จะจัดให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เพื่อรักษาให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าโดยปลอดภัย สมควรขยายเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ป่าฮาลาและป่าบาลาออกไปให้ครอบคลุมถึงพื้นที่บริเวณดังกล่าวด้วย และโดยที่ต้องแก้ไขชื่อตำบลในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ป่าฮาลาและป่าบาลาเดิมให้ถูกต้องตามความเป็นจริง สมควรแก้ไขชื่อท้องที่ให้ถูกต้องเสียในคราวเดียวกัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

พระราชกฤษฎีกา ขยายเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ป่าสาละวิน ในท้องที่ตำบลเสาหิน อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน พ.ศ. 2550

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากบริเวณพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าสาละวินตอนบนบางส่วน ในท้องที่ตำบลเสาหิน อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งมีเขตติดต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ป่าสาละวิน ในท้องที่ตำบลแม่คง และตำบลเสาหิน อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตามที่กำหนดไว้โดยพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าสาละวิน ในท้องที่ตำบลแม่คง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๒๑ ซึ่งได้มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่โดยการขยายเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ป่าสาละวิน ตามพระราชกฤษฎีกาขยายเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ป่าสาละวิน ในท้องที่ตำบลเสาหิน อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน พ.ศ. ๒๕๒๖ เนื้อที่ประมาณ ๘๐ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๕๐,๐๐๐ ไร่ มีสภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน เป็นพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์มีแหล่งน้ำแหล่งอาหารของสัตว์ป่า และมีสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครองอาศัยอยู่บริเวณดังกล่าวหลายชนิด เช่น เลียงผา กระทิง วัวแดง กวาง เก้ง ฯลฯ เหมาะสมที่จะจัดให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เพื่อรักษาไว้ให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าโดยปลอดภัย รวมทั้งเป็นการช่วยป้องกันรักษาต้นน้ำลำธารและป่าไม้ที่อยู่ในพื้นที่ป่าแห่งนี้ให้คงอยู่ถาวรตลอดไป สมควรขยายเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ป่าสาละวิน ออกไปให้ครอบคลุมถึงบริเวณพื้นที่ดังกล่าวด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

พระราชกฤษฎีกา เพิกถอนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ป่าลุ่มน้ำบางนรา บางส่วน ในท้องที่ตำบลกะลุวอ อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส พ.ศ. 2550

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากกองทัพบกมีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ป่าลุ่มน้ำบางนรา บางส่วน ในท้องที่ตำบลกะลุวอ อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส ตามที่กำหนดไว้โดยพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าลุ่มน้ำบางนรา ในท้องที่ตำบลกะลุวอ อำเภอเมืองนราธิวาส ตำบลไพรวัน ตำบลบางขุนทอง ตำบลพร่อน ตำบลโฆษิต อำเภอตากใบ ตำบลสุไหงปาดี ตำบลปะลุรู อำเภอสุไหงปาดี และตำบลปูโยะ ตำบลปาเสมัส อำเภอสุไหงโก – ลก จังหวัดนราธิวาส ให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๔ เนื้อที่ ๑,๒๖๙ ไร่ ๘ ตารางวา เพื่อจัดตั้งหน่วยงานของกองทัพบก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาความมั่นคงภายในประเทศ และเพื่อแก้ไขสถานการณ์การก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สมควรเพิกถอนพื้นที่ดังกล่าวออกจากการเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

พระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าห้วยยอดมน และป่าบุณฑริก ในท้องที่ตำบลช่องเม็ก ตำบลโนนก่อ อำเภอสิรินธร และตำบลคอแลน ตำบลโพนงาม ตำบลห้วยข่า อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี ให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พ.ศ. 2552

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากบริเวณที่ดินป่าห้วยยอดมนและป่าบุณฑริก ในท้องที่ตำบลช่องเม็ก ตำบลโนนก่อ อำเภอสิรินธร และตำบลคอแลน ตำบลโพนงาม ตำบลห้วยข่า อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี เนื้อที่ประมาณ ๓๕๐.๖๔๘ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๒๑๙,๑๕๕ ไร่ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาพนมดงรักเป็นเทือกเล็กเทือกน้อยตามแนวชายแดนไทยลาว สภาพป่าเป็นป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดงดิบเขาที่สมบูรณ์เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหลายสายไหลไปบรรจบลงสู่ลำโดมน้อย มีแหล่งน้ำแหล่งอาหารของสัตว์ป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครองหลายชนิดอาศัยอยู่อย่างชุกชุม เช่น เลียงผา ช้างป่า เสือโคร่ง วัวแดง กวางป่า หมาใน สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกอีกหลายชนิด และนกชนิดต่าง ๆ ฉะนั้น เพื่อรักษาไว้ซึ่งพันธุ์สัตว์ป่าและพื้นที่ป่าให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าโดยปลอดภัย รวมทั้งเป็นการรักษาแหล่งต้นน้ำลำธารและป่าไม้ที่มีอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ให้คงอยู่อย่างถาวรตลอดไป สมควรกำหนดบริเวณที่ดินดังกล่าวให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง