คลังคำสำคัญ ‘มลพิษ’

พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. ๒๕๐๓ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมืองได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน ไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบันโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับบทลงโทษและอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานท้องถิ่น เป็นเหตุให้การดำเนินการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมืองไม่ได้ผลเท่าที่ควร สมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมืองเสียใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. ๒๕๑๒ มีบทบัญญัติที่ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบันและไม่เอื้ออำนวยต่อการส่งเสริมการประกอบกิจการโรงงาน เนื่องจากกำหนดให้โรงงานทุกลักษณะต้องขออนุญาตเช่นเดียวกันทั้ง ๆ ที่ตามสภาพที่เป็นจริงโรงงานต่าง ๆ มีลักษณะที่แตกต่างกัน โรงงานบางประเภทไม่จำเป็นจะต้องควบคุมดูแลการตั้งโรงงาน เพียงแต่ดูแลการดำเนินงานเท่านั้น คงมีแต่โรงงานบางประเภทที่อาจเกิดอันตรายจากการประกอบกิจการได้เท่านั้นที่ควรจะควบคุมการจัดตั้งอย่างเคร่งครัด จึงสมควรปรับปรุงระบบการควบคุมดูแลให้สอดคล้องกับสภาพการประกอบกิจการด้วยการให้โรงงานบางลักษณะอาจประกอบกิจการได้ภายใต้ระบบการกำกับตามปกติ และโรงงานบางลักษณะจะต้องแจ้งให้ทราบก่อนจึงจะเริ่มประกอบกิจการได้ โดยคงมีแต่โรงงานบางลักษณะที่จำเป็นเท่านั้นที่จะยังคงใช้ระบบการอนุญาต และสมควรปรับปรุงวิธีการอนุญาตให้เหมาะสมยิ่งขึ้นด้วย นอกจากนี้ ได้กำหนดให้มีการประสานงานกันระหว่างพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตตามกฎหมายให้พิจารณาลดการดำเนินงานที่ซ้ำซ้อนกันเพื่อความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ และสมควรปรับปรุงการควบคุมการประกอบกิจการโรงงานให้เป็นไปโดยได้ผลยิ่งขึ้นด้วยการให้มีการออกกฎเพื่อกำหนดขอบเขตการประกอบกิจการโรงงานให้ชัดเจน และกำหนดขั้นตอนการใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการออกคำสั่งเพื่อบังคับให้โรงงานปฏิบัติตามกฎหมาย พร้อมกับปรับปรุงอัตราโทษและกำหนดให้มีการร่วมรับผิดสำหรับผู้ที่ทำงานในโรงงานนอกเหนือจากเจ้าของโรงงานเพื่อให้การควบคุมโรงงานเป็นไปอย่างได้ผลยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติบางประการของพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๒๒ ให้สอดคล้องกับพันธกรณีว่าด้วยความตกลงขององค์การการค้าโลกในเรื่องความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนและมาตรการตอบโต้ในส่วนที่เข้าข่ายเป็นการอุดหนุนต้องห้าม กำหนดให้มีการประกอบกิจการบริการในเขตอุตสาหกรรมทั่วไปได้ กำหนดให้คณะกรรมการเป็นผู้ประกาศจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดความสะดวกและรวดเร็ว และกำหนดให้การจัดสรรที่ดินในเขตพื้นที่ที่เป็นนิคมอุตสาหกรรมต้องได้รับอนุญาตจากผู้ว่าการหรือผู้ซึ่งผู้ว่าการมอบหมายและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมายนอกจากนี้ ได้กำหนดให้การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมประเภทเขตประกอบการเสรี รวมทั้งการนำของหรือวัตถุดิบเข้าไปในเขตประกอบการเสรีเป็นไปโดยสะดวกและรวดเร็วเพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ และได้รับสิทธิประโยชน์ทางอากรเช่นเดียวกับของที่นำเข้าไปในเขตปลอดอากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันปรากฏว่าการทำเกลือด้วยวิธีการสูบน้ำเกลือใต้ดินได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องควบคุมมิให้มีการขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดินเพิ่มมากขึ้น และวางมาตรการกำหนดให้การขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดินและการทำเกลือจากน้ำเกลือใต้ดินต้องดำเนินการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และป้องกันมิให้มีผลกระทบทางสภาวะสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากการขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดินดังกล่าว สมควรกำหนดให้น้ำเกลือใต้ดินอยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยแร่ แต่ได้วางมาตรการเป็นพิเศษให้ผ่อนคลายลงสำหรับการขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดิน เพื่อให้แตกต่างไปจากวิธีการทำเหมืองโดยทั่วไป จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากในปัจจุบันผู้ได้รับอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งล่วงล้ำลำน้ำได้ใช้อาคารหรือสิ่งล่วงล้ำลำน้ำนั้นประกอบธุรกิจ สมควรแก้ไขอัตราโทษให้เหมาะสมยิ่งขึ้นและกำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาตดังกล่าวต้องชำระค่าตอบแทนเป็นรายปีตามวิธีการและอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง ประกอบกับขณะนี้ประเทศไทยได้พัฒนาไปเป็นประเทศอุตสาหกรรมมากขึ้นเป็นผลให้มีการนำเคมีภัณฑ์และสิ่งของต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้เข้ามาในประเทศเป็นจำนวนมากกว่าที่เป็นมาในอดีต หากไม่มีการควบคุมการนำเข้ามาโดยทางเรือให้เหมาะสมแล้ว อาจก่อให้เกิดอันตรายอย่างกว้างขวางแก่บุคคล สัตว์ สิ่งของ และสิ่งแวดล้อม สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจของกรมเจ้าท่าในการควบคุมการขนส่งสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายได้ และเนื่องจากอัตราโทษสำหรับผู้กระทำผิดตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยยังไม่เหมาะสม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง