ศักดิ์ของกฎหมาย
ศักดิ์ของกฎหมาย
กฎหมายที่ออกใช้บังคับในประเทศแบ่งออกเป็นหลายระดับ เนื่องจากอำนาจในการออกกฎหมายมีที่มาต่างกัน ได้แก่ กฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติจะมีระดับความสำคัญสูงและใช้บังคับได้กว้างขวางกว่ากฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหาร กฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหารก็จะมีระดับความสำคัญสูงและใช้บังคับได้กว้างขวางกว่ากฎหมายที่ออกโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อธิบายระดับความสำคัญของกฎหมายได้ ดังนี้
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
- พระราชบัญญัติ
- พระราชกำหนด
- พระราชกฤษฎีกา
- กฎกระทรวง
- ข้อบัญญัติจังหวัด
- เทศบัญญัติ
- ข้อบังคับตำบล
1. กฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายที่มีลำดับความสำคัญสูงสุดใช้ในการปกครองประเทศ มีบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพตลอดจนหน้าที่ของพลเมืองไทย แนวนโยบายแห่งรัฐ สถาบันนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ และการปกครองส่วนท้องถิ่น กฎหมายอื่นที่ออกใช้จะขัดหรือแย้งกับกฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ได้
2. พระราชบัญญัติ เป็นกฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นโดยผ่านกระบวนการทางรัฐสภามีความสำคัญรองลงมาจากกฎหมายรัฐธรรมนูญ ผู้มีสิทธิเสนอร่างพระราชบัญญัติคือ คณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติแล้วก็จะส่งให้วุฒิสภาพิจารณา หากเห็นชอบก็จะนำขึ้นทูลเกล้าฯพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วก็สามารถใช้บังคับได้
3. พระราชกำหนด เป็นกฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี มีความสำคัญในระดับเดียวกันกับพระราชบัญญัติ แต่พระราชกำหนดจะออกใช้ต่อเมื่อเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการรักษาความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยของสาธารณะ หรือความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือการป้องกันภัยภิบัติของสาธารณะ และไม่อาจจะเรียกประชุมรัฐสภาให้ทันท่วงที
พระราชกำหนดมี 2 ประเภท คือ พระราชกำหนดในเรื่องทั่วไปและพระราชกำหนดเกี่ยวด้วยเรื่องภาษีอากรและเงินตรา ในกรณีเป็นพระราชกำหนดเกี่ยวด้วยเรื่องภาษีอากรและเงินตรามีเงื่อนไขว่าการเสนอร่างพระราชกำหนดต้องอยู่ในระหว่างสมัยประชุมสภาและมีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบจะเป็นผู้เสนอร่างพระราชกำหนดต่อคณะรัฐมนตรีให้พิจารณา หากเห็นชอบก็จะนำขึ้นทูลเกล้าฯพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วก็สามารถใช้บังคับเป็นกฎหมาย
รัฐธรรมนูญกำหนดให้นำพระราชกำหนดเสนอต่อรัฐสภาเพื่ออนุมัติในการประชุมคราวต่อไป ในกรณีเป็นพระราชกำหนดเกี่ยวด้วยเรื่องภาษีอากรและเงินตราจะต้องเสนอพระราชกำหนดต่อสภาผู้แทนราษฎรภายใน 3 วันนับตั้งแต่วันที่ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา หากสภาไม่เห็นชอบพระราชกำหนดนั้นก็จะตกไป แต่จะไม่กระทบกระเทือนกิจการที่ได้ทำไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น
4. พระราชกฤษฎีกา เป็นกฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี ตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ หรือพระราชกำหนดให้อำนาจฝ่ายบริหารสามารถกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมภายใต้กรอบของกฎหมายนั้น รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบจะเป็นผู้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาต่อคณะรัฐมนตรีให้พิจารณา หากเห็นชอบก็จะนำขึ้นทูลเกล้าฯพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วก็สามารถใช้บังคับเป็นกฎหมายได้
5. กฎกระทรวง เป็นกฎหมายที่รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบจะเป็นผู้เสนอร่างกฎกระทรวงต่อคณะรัฐมนตรีให้พิจารณา หากเห็นชอบก็จะนำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป
6. ข้อบัญญัติจังหวัด เป็นกฎหมายท้องถิ่นที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดได้รับอำนาจตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด หรือกฎหมายอื่น ให้ออกข้อบัญญัติจังหวัดเพื่อใช้บังคับในเขตจังหวัดที่รับผิดชอบ นอกเขตเทศบาล เขตสุขาภิบาล และเขตตำบลในกรณีที่ตำบลใดมีการจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลแล้ว โดยผู้ว่าราชการจังหวัดหรือสมาชิกสภาจังหวัดเสนอร่างข้อบัญญัติจังหวัดต่อสภาจังหวัดเพื่อพิจารณา เมื่อเห็นชอบแล้วก็จะประกาศที่ศาลากลางจังหวัดเป็นเวลา 15 วันก็ใช้บังคับเป็นกฎหมาย เว้นแต่กรณีเร่งด่วนก็อาจให้มีผลใช้บังคับในวันถัดจากวันที่ประกาศนั้น
7. เทศบัญญัติ เป็นกฎหมายท้องถิ่นที่เทศบาลได้รับอำนาจตามพระราชบัญญัติเทศบาล หรือกฎหมายอื่น ให้ออกเทศบัญญัติเพื่อใช้บังคับในเขตเทศบาลที่รับผิดชอบ คณะเทศมนตรีหรือสมาชิกสภาเทศบาลจะเป็นผู้เสนอร่างเทศบัญญัติต่อสภาเทศบาลเพื่อพิจารณา เมื่อเห็นชอบแล้วก็จะประกาศที่สำนักงานเทศบาลเป็นเวลา 7 วันก็ใช้บังคับเป็นกฎหมาย เว้นแต่กรณีเร่งด่วนก็อาจให้มีผลใช้บังคับในวันที่ประกาศนั้น
8. ข้อบังคับตำบล เป็นกฎหมายท้องถิ่นที่องค์การบริหารส่วนตำบลได้รับอำนาจตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 หรือกฎหมายอื่น ให้ออกข้อบังคับตำบลเพื่อใช้บังคับในเขตตำบลที่รับผิดชอบ คณะกรรมการบริหารหรือสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลจะเป็นผู้เสนอร่างข้อบังคับตำบลต่อสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและนายอำเภอเพื่อพิจารณา เมื่อเห็นชอบแล้วก็จะประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมาย ในการออกกฎหมายนั้นอาจกำหนดค่าธรรมเนียมที่จะเรียกเก็บและกำหนดโทษปรับผู้ฝ่าฝืนด้วยก็ได้ แต่โทษปรับกำหนดได้ไม่เกิน 500 บาท
คำแนะนำ ให้เข้าเว็บของกฤษฎีกา www.krisdika.go.th หัวข้อ ห้องสมุดกฎหมาย พระราชบัญญัติ จะมีอักษร ก-ฮ เมื่อเลือกกฎหมายฉบับใด จะมีอนุบัญญัติหลายลำดับศักดิ์ที่สามารถดึงหัวข้อกฎหมาย พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ที่ออกตามกฎหมายฉบับนั้น ๆ จะทำให้ข้อมูลครบได้รวดเร็ว